โครงการศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มสตรี กลุ่มอาชีพ และกลุ่มพลังองค์กรที่เทศบาลจัดตั้ง ประจำปีงบประมาณ 2565
25 กรกฎาคม 2565ประเภท : ข่าวกิจกรรม
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 21 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 กองสวัสดิการสังคมจัดโครงการศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มสตรี กลุ่มอาชีพ และกลุ่มพลังองค์กรที่เทศบาลจัดตั้ง ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดปทุมธานี โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 ราย โดยก่อนเดินทางผู้เข้าร่วมโครงการทุกคน รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ซึ่งผลเป็นลบทุกราย
สำหรับโครงการดังกล่าว มีนางอรอนงค์ ศิริชัย นายกเทศมนตรี และคณะผู้บริหารเดินทางร่วมไปกับคณะศึกษาดูงานด้วย โดยในวันที่ 21 กรกฎาคม คณะได้เดินทางไปศึกษาดูงาน เทศบาลตำบลพนมสารคาม ได้มีการจัดตั้ง “กลุ่มอาชีพเทศบาลตำบลพนมสารคาม” โดยกลุ่มอาชีพเทศบาลตำบลพนมสารคาม มีผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้แก่สมาชิก ได้แก่ ดอกไม้จันทน์ พรมเช็ดเท้าจากเศษผ้า สบู่สมุนไพร และตะกร้าหวายเทียม ซึ่งทางกลุ่มอาชีพฯ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเทศบาลตำบลพนมสารคาม และหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันสมาชิกมีรายได้ 500 – 700 บาทต่อคนต่อเดือน
นอกจากการบริหารจัดการที่เข้มแข็งแล้ว การได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และองค์ความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้กลุ่มอาชีพเทศบาลตำบลพนมสารคามมีความเข้มแข็ง สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากใช้วัสดุที่หาได้ภายในท้องถิ่น และนอกจากประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแล้ว การรวมทำกิจกรรมในลักษณะของกลุ่มอาชีพ ยังช่วยลดปัญหาทางด้านสุขภาพจิตที่เกิดในกลุ่มผู้สูงอายุด้วย
จากนั้นในช่วงบ่าย คณะศึกษาดูงาน ได้เดินทางไปศึกษาการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ในการซื้อที่ดินผืนนี้ จำนวน 4 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา เนื่องจาก เมื่อ 40 ปีก่อน ได้เสด็จพระราชดำเนินมายัง จ.นครนายก และทรงเล็งเห็นว่า เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ และทรงมีราชดำริในการจัดหาที่ดินเพื่อทำเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ด้วย แต่มีข้อแม้ว่าที่ดินนั้นจะต้องไม่เป็นที่ดินของประชาชนที่ใช้ในการประกอบอาชีพ และไม่เบียดเบียนประชาชน ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ถือเป็นคำอธิบายที่มีชีวิตในการทำให้ผู้เข้าชม ได้เข้าใจถึงคำว่า “พอเพียง” ตามหลักปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้อย่างลึกซึ้งและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยภายในศูนย์ฯ จะมีการจำลองจุดเด่นของความพอเพียงของแต่ละภาคในประเทศไทย โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ภาค ดังนี้
1. ภาคเหนือ ซึ่งสะท้อนหลัก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” 2. ภาคกลาง เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของตัวเองอย่างคุ้มค่า เรียนรู้การสร้างบ้านดิน และเรื่องสมุนไพรนานาชนิด 3. ภาคอีสาน เป็นภาคที่ต้องส่งเสริมด้านการลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน เนื่องจากภาคอีสานมีปัญหาด้านพื้นที่แห้งแล้ง และปิดท้ายกันที่ ภาคใต้ โดยเน้นสะท้อนหลักการด้านพลังงานทดแทน เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้มีพื้นที่ป่าจำนวนมาก ทำให้มีวัตถุดิบในการทำเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก
สำหรับศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติแห่งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์การเรียนรู้เท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนภายในศูนย์ยังดำรงชีวิตภายในศูนย์ ส่งผลให้ศูนย์แห่งนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตอย่างแท้จริง และยังเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนอย่างยิ่งของ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
ต่อมาในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 คณะศึกษาดูงาน ได้เดินทางไปยัง ชุมชนวัฒนธรรมวัดฝั่งคลอง ได้ดำเนินโครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อน โดยมี “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ส่งผลให้คนภายในชุมชนอยู่ดี มีสุข บนวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยพวน ภายในแนวคิด “บวร On Tour” เน้นชูความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของชาวไทยพวน เช่น ภาษาพูด การแต่งกาย การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และอาหารพื้นบ้าน นอกจากนั้นชุมชนยังได้จัดให้มีที่พักแบบโฮมสเตย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวิถีพื้นบ้านของชาวไทยพวนอีกด้วย
นอกจากนักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีพื้นบ้านแล้ว ทางชุมชน ร่วมกับวัดปากคลองยังได้สร้างศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลองขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมของชุมชน รวมไปถึงยังได้สัมผัสถึงประเพณีความเชื่อของชาวไทยพวน โดยการเข้าร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ รับประทานอาหารโตกไทยพวน ถือเป็นการสัมผัสวัฒนธรรมไทยพวนดั้งเดิมอย่างเต็มอิ่ม โดยชาวบ้านในพื้นที่
หลังจากการเรียนรู้ กระบวนการทำงานร่วมกันของชุมชนวัฒนธรรมวัดฝั่งคลอง แล้ว คณะได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟู บึงยี่โถ เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองบึงยี่โถ และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น สำหรับศูนย์การแพทย์และฟื้นฟู บึงยี่โถ นอกจากเน้นจัดบริการด้านสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุแล้ว ยังส่งเสริมการรวมกลุ่มในลักษณะกลุ่มอาชีพของผู้สูงอายุด้วย โดยได้จัดให้มีศูนย์การจำหน่ายสินค้า “โครงการร้านค้าหัวใจ Strong” เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้สูงอายุได้มีรายได้เสริม โดยปัจจุบันมีกลุ่มอาชีพที่นำสินค้ามาจำหน่ายภายในร้านค้าหัวใจ strong จำนวนมาก ได้แก่ กระเป๋าถักเชือกร่ม เสื้อมัดย้อม กระเป๋าผ้าควิลท์ สบู่สมุนไพร น้ำพริกเผา สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง ยาดมสมุนไพร พวงมาลัยดอกไม้ถัก ข้าวเกรียบสมุนไพร สเปย์ตะไคร้หอมกันยุง ขนมกระยาสารท เป็นต้น ซึ่งนอกจากจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้าหัวใจแล้ว เทศบาลเมืองบึงยี่โถยังจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สินค้าของกลุ่มอาชีพผ่านช่องทางออนไลน์ และเว็บไซต์ของเทศบาลฯ ด้วย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เสริม